1 กันยายน 2560 – เชียงใหม่
บทนำ:
นิทรรศการครั้งที่ 10 ของโรงแรมแทมมารินวิลเลจ เชียงใหม่ ได้นำเสนอศิลปวัฒนธรรมแขนงจิตรกรรมอันทรงคุณค่า ที่ถูกถ่ายทอดลงบนฝาผนังของวัดสำคัญต่างๆ ทั่วอาณาจักรล้านนาในสมัยที่พระพุทธศาสนาได้ถูกเผยแผ่และรุ่งเรืองยังดินแดนแห่งนี้
ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่พบในวัดในถิ่นล้านนานั้นล้วนแล้วแต่นำเสนอและถ่ายทอดเกี่ยวกับความเชื่อ ประเพณี และวัฒนธรรมของชาวเหนือในอดีต โดยเล่าขานผ่านการใช้สีสันสดใสแต่งแต้มภาพที่มีชีวิตชีวาของวิถีความเป็นอยู่ดั้งเดิม แม้จะมีหลักฐานซึ่งเสนอว่าเริ่มมีการวาดภาพจิตกรรมฝาผนังมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 15 ทว่าตัวอย่างหลักฐานภาพจิตรกรรมฝาผนังในยุคนั้นกลับไม่หลงเหลืออยู่เลย ในขณะที่ภาพฝาผนังที่ยังคงอยู่ในปัจจุบันมีอายุไม่เกิน 150 ปีเท่านั้น
งานจิตรกรรมฝาผนังในวัดทำหน้าที่สำคัญ 2 ประการในเวลาเดียวกัน กล่าวคือคือเพื่อประดับตกแต่งพื้นที่ด้วยงานศิลป์เป็นประการแรก และทั้งสอนสั่งผู้มาสักการะบูชาผ่านภาพเรื่องราวพระพุทธประวัติที่สอดแทรกข้อคิดหลักคุณธรรมมากมายเป็นประการที่สอง ซึ่งภาพจิตรกรรมฝาผนังล้านนามักพบได้ทั่วไปในวิหารอันเป็นสถานที่ซึ่งพระสงฆ์ทำวัตรและแสดงธรรมคำสั่งสอนแก่คนในท้องถิ่น
งานศิลป์เหล่านี้ล้วนแล้วแต่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์ต่างๆในพระพุทธประวัติและนิทานชาดก (เรื่องราวในอดีตชาติของพระโคตมพุทธเจ้า) รวมไปถึงเรื่องเล่าปรัมปราตามคัมภีร์ทางศาสนาพุทธในภาคเหนือ หรือเรียกว่า ปัญญาสชาดก โดยพระสงฆ์จะกล่าวถึงเรื่องราวเหล่านี้ครั้งแล้วครั้งเล่าเมื่อมีการรวมตัวกันประกอบศาสนพิธี และภาพจิตรกรรมฝาผนังก็สามารถทำหน้าที่เป็นภาพประกอบการแสดงพระธรรมเทศนาได้เป็นอย่างดี
ความหลากหลาย:
ลักษณะเด่นของภาพจิตรกรรมฝาผนังล้านนาคือการบอกเล่าถึงเรื่องราวเรียบง่ายตามความเป็นจริง ผนวกกับกลิ่นอายความเป็นท้องถิ่นอันเข้มข้น ทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกันของกลุ่มชาติพันธุ์อันหลากหลายในภาคเหนือของประเทศไทย เป็นส่วนผสมอันน่าตื่นตาตื่นใจของอิทธิพลจากพม่า ไทใหญ่ ลาว ไทลื้อ และสยาม ซึ่งการหลอมรวมอิทธิพลจากภายนอกเข้ากับประเพณีและความละเมียดละไมของท้องถิ่นนี้เองทำให้มรดกทางศิลปะเหล่านี้มีเสน่ห์เปี่ยมมนต์ขลังไม่เหมือนใคร
ในศตวรรษที่ 19 ชุมชนชาวไทใหญ่และไทลื้อขนาดใหญ่จากรัฐฉานซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศพม่าและตอนใต้ของประเทศจีน ได้อพยพมาตั้งรกรากในจังหวัดเชียงใหม่เพื่อเพิ่มจำนวนประชากรภายหลังสงครามอันยืดเยื้อยาวนานกับพม่า ในขณะเดียวกัน พ่อค้าชาวจีนยูนนานที่นับถือศาสนามุสลิมก็เริ่มเข้ามามีบทบาทโดยการนำสินค้า เช่น ชา ยาสมุนไพร และผักดอง เข้ามาทางบกจากประเทศจีนเพื่อขายในตลาด และเวลานั้นมีพ่อค้าชาวจีนเดินทางจากกรุงเทพฯเข้ามาลงหลักปักฐานเลียบแม่น้ำในเมืองทางเหนือเพื่อริเริ่มธุรกิจขนาดเล็ก รวมถึงชาวตะวันตกที่มาพร้อมกับความสนใจในธุรกิจสัมปทานไม้สักซึ่งทำกำไรได้มาก และจากนั้นเพียงไม่นานบรรดามิชชันนารีก็ได้นำศาสนาคริสต์เข้ามาเผยแผ่ในล้านนาภายหลังจากนั้นไม่นาน
นอกจากจะได้ชื่นชมความหลากหลายทางวัฒนธรรมในภาคเหนือแล้ว เรายังสามารถเรียนรู้ถึงวิถีความเป็นอยู่ของชาวล้านนาในอดีตผ่านภาพจิตรกรรมฝาผนังเหล่านี้ได้ เนื่องจากมีการบันทึกไว้แทบทุกรายละเอียด ตั้งแต่ธรรมเนียมปฏิบัติในการเกี้ยวพาราสีและการทำสงคราม ไปจนถึงการละเล่นของเด็ก นาฏศิลป์ และวัฒนธรรมทางดนตรี ต่างจากภาพจิตรกรรมตามประเพณีนิยมที่พบได้ตามวัดในกรุงเทพฯ ซึ่งจิตรกรปฏิบัติตามข้อกำหนดที่ได้รับความเห็นชอบจากราชสำนักอย่างเคร่งครัด จิตรกรรมฝาผนังของล้านนาจึงมีลักษณะการรังสรรค์งานแบบปัจเจก โดยภาพฝาผนังจากแต่ละวัดล้วนมีลักษณะเฉพาะตัวต่างกันไป รูปแบบเฉพาะตัวสามารถพบได้หลายแห่ง เช่น พื้นที่ห่างไกลในจังหวัดน่านซึ่งนำเสนอตัวอย่างภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ดีที่สุดที่เคยมีการเขียนเอาไว้ที่วัดภูมินทร์และวัดหนองบัว ในขณะที่เอกลักษณ์ของจังหวัดลำปางคือภาพจิตรกรรมบนแผ่นไม้ซึ่งใช้ประดับแผงคอสองของวิหาร เป็นต้น นอกจากนี้ภาพเขียนเหล่านี้ยังช่วยส่องสะท้อนภูมิหลังทางชาติพันธุ์ของศิลปินอีกด้วยด้วย เป็นต้นว่า วัดบวกครกหลวงในตัวเมืองเชียงใหม่ และวัดป่าแดดในอำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ มีรายละเอียดที่แสดงให้เห็นว่าศิลปินผู้สร้างงานสืบเชื้อสายมาจากชาวไทใหญ่โดยจะสังเกตได้จากเครื่องแต่งกายของผู้คนในภาพจิตรกรรม
นอกจากการวาดเรื่องเล่าขานโดยใช้สีสันสดใสบนผนังของวิหารแล้ว ศิลปินล้านนามักใช้วิธีในการรังสรรค์ภาพจิตรกรรมฝาผนังที่เรียกว่า “ลายคำ” เพื่อประดับตกแต่งภายในสิ่งก่อสร้าง โดยคำว่า ลายคำ มาจาก “ลวดลายทองคำ” ซึ่งใช้วิธีการฉลุแบบแล้วปิดทองคำเปลวบนพื้นผิวที่เคลือบสีแดงหรือดำ ส่วนใหญ่จะใช้วิธีนี้เพื่อตกแต่งส่วนประกอบทางสถาปัตยกรรมภายในวิหารที่ทำจากไม้ อาทิ เสา คาน และฝาผนัง รวมถึงใช้ในการประดับตกแต่งกำแพงด้านหลังองค์พระประธานซึ่งจะทอประกายงดงามเมื่อมีแสงแดดตกกระทบ ทำให้รู้สึกถึงความศักดิ์สิทธิ์และสวยงามของสถานที่มากยิ่งขึ้น
การอนุรักษ์:
ด้วยวิธีการวาดภาพด้วยสีธรรมชาติบนผนังปูนแห้งที่ศิลปินใช้ในงานจิตรกรรมฝาผนังของไทย(เทียบกับเทคนิคการการวาดภาพบนผนังปูนแบบเปียกที่พบในยุโรป) ทำให้ผลงานนั้นเปราะบางและเสื่อมสภาพไปตามกาลเวลาและสภาพอากาศที่ร้อนชื้นของประเทศไทยได้ง่าย นอกจากนี้ยังเสื่อมสภาพเร็วขึ้นจากการบำรุงรักษาที่ด้อยมาตรฐานเนื่องจากการขาดแคลนเงินสนับสนุนและความเชี่ยวชาญ ทั้งยังไม่มีการตระหนักถึงคุณค่าทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่แท้จริงของมรดกศิลป์เหล่านี้ ทำให้หลายภาพจิตรกรรมเมื่อ 20 ปีก่อนลบเลือนไปเหมือนกับเป็นการพรากเอาส่วนหนึ่งของมรดกทางวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของล้านนาไปด้วย