BOOK NOW
Check in 14:00 hrs. & Check out 12:00 hrs.

สามบริบทกำหนดวิถีแห่งสามเหลี่ยมทองคำ

ภาพถ่าย โดย วิคทอเรีย วอร์ไรเทอร์

20 ธันวาคม 2552 ถึง 30 เมษายน 2553

“ในบริเวณสามเหลี่ยมทองคำที่ประเทศไทย ลาว และพม่า มาบรรจบกัน ยังมีอีกโลกหนึ่งที่น้อยคนเคยได้สัมผัส ที่นั่นคือดินแดนของคนภูเขากลุ่มคนน้อยใหญ่ที่ใช้ชีวิตใกล้ชิดและผูกพันกับผืนแผ่นดินอันเป็นบ่อเกิดของวัฒนธรรม พิธีกรรม ความเชื่อ และวิถีชีวิต รวมไปถึงเป็นที่มาของอาหารซึ่งหล่อเลี้ยงร่างกายของพวกเขามาหลายชั่วอายุ นิทรรศการภาพถ่าย Patterns, Passages & Prayers สามบริบทกำหนดวิถีแห่งสามเหลี่ยมทองคำเป็นส่วนหนึ่งของบันทึกประสบการณ์ส่วนตัวของดิฉัน กับช่วงเวลาสี่ปีท่ามกลางชาวเขา และวัฒนธรรมเฉพาะตัวของแต่ละเผ่าที่ถูกสืบต่อกันมาจากบรรพบุรุษ หวังว่าทุกท่านจะเพลิดเพลินและได้เรียนรู้จากภาพความทรงจำดีๆเหล่านี้ ท่ามกลางบรรยากาศสงบร่มเย็นแบบล้านนาของโรงแรมแทมมารินวิลเลจ”

-วิคทอเรีย วอร์ไรเทอร์

บทนำ:

Patterns, Passages & Prayers สามบริบทกำหนดวิถีแห่งสามเหลี่ยมทองคำ ประกอบด้วยภาพถ่ายกว่า 50 ภาพ และของสะสมจากชนเผ่าต่าง ๆ โดย วิคทอเรีย วอร์ไรเทอร์ นักดนตรีและนักวิชาการชาวอเมริกัน ภาพถ่าย เหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความงดงามในความเรียบง่ายของชีวิตประจำวัน นับตั้งแต่การเกิด การผ่านเข้าสู่ช่วงวัยต่าง ๆ ไปจนถึงวันที่สิ้นใจ แต่ละภาพแสดงอยู่เคียงคู่กับบันทึกของวิคทอเรีย ซึ่งนอกจากจะให้ความรู้อย่างลึกซึ้งกับผู้อ่าน แล้วยังปลุกภาพถ่ายสองมิติให้เกิดมีชีวิตชีวาขึ้นมาอีกด้วย นอกจากภาพถ่ายแล้ว นิทรรศการยังแสดงของสะสมอันประกอบด้วยคัมภีร์โบราณของชนเผ่าเมี่ยน เครื่องดนตรีกะเหรี่ยง และคอลเล็กชั่นหมวกเด็กเล็กหลากสี เพื่อเน้นให้เห็นถึงวิถีชีวิตอันผูกพันกับเสียงเพลง ความเชื่อ และ ผืนแผ่นดิน

ภัณฑารักษ์ :

วิคทอเรีย วอร์ไรเทอร์ เป็นนักเล่นไวโอลินคลาสสิก และเป็นอาจารย์สอนทางด้านดนตรีให้กับหลายสถาบัน และมหาวิทยาลัย โดยล่าสุดเธอเป็นอาจารย์ที่ มหาวิทยาลัยดีพอลล์ ในเมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา วิคตอเรียหันมาสนใจวัฒนธรรมทางดนตรีของชนเผ่าต่างๆ มากว่าหนึ่งทศวรรษ จนในที่สุด วิคตอเรียเลือกที่จะมุ่งหน้ามายังสามเหลี่ยมทองคำ เพราะบริเวณนี้นับเป็นพื้นที่อันเต็มไปด้วยความหลากหลายทางวัฒนธรรม ประเพณี เผ่าพันธุ์ และเชื้อชาติ โดยเธอได้ย้ายมาตั้งรกรากที่เมืองเชียงใหม่ในปี พ.ศ. 2547 จากนั้นเธอใช้เวลากว่าสามปีในการเดินทางไปตามหมู่บ้านชนเผ่าต่างๆบนเทือกเขา และที่ราบสูงในประเทศไทย ลาว พม่า และจีน เพื่อศึกษา ซึมซับ และบันทึกวัฒนธรรมทางดนตรีรวมไปถึงวัฎจักรการดำเนินชีวิต และวิถีพื้นถิ่นของชาวเขาเผ่าต่างๆ ผลงานที่ตามมาคือภาพยนตร์สารคดี ภาพยนตร์เพื่อการศึกษา นิทรรศการ และหนังสือภาพสารคดี Songs of Memory พร้อมซีดีบันทึกเสียงเพลงจาก 6 ชนเผ่าหลักๆบนพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ นอกเหนือจากนิทรรศการ Patterns, Passages & Prayers สามบริบทกำหนดวิถีแห่งสามเหลี่ยมทองคำ ที่จัดขึ้นที่แทมมาริน วิลเลจ แล้ว โรงแรมฯ ยังผู้สนับสนุนหลักของนิทรรศหาร Songs of Memory โดย วิคทอเรีย วอร์ไรเทอร์ หอศิลปวัฒนธรรม เมืองเชียงใหม่ ซึ่งเปิดตัวขึ้นในเดือนเมษายน พ.ศ. 2553 อีกผลสำเร็จของโครงการ The Resonance Project คือนิทรรศการ ที่จัดแสดง ณ พิพิธภัณฑ์ จิม ทอมป์สัน กรุงเทพฯ เมื่อต้นปี พ.ศ. 2552 นี้ และได้รับการตอบรับอย่างล้นหลามและมีผู้เข้าชมกว่า 11,000 คน จากทั่วโลก นิทรรศการนี้เล่าถึงการถ่ายทอดศิลปะทางดนตรี และการปฎิบัติตนทางพิธีกรรม ของ ผ่านทางเครื่องดนตรี เสียงเพลง ภาพยนตร์สารคดี รวมไปถึงภาพถ่ายฝีมือของวิคตอเรียเอง ด้วยความมุ่งหวังว่านิทรรศการจะถูกนำไปแสดงในพิพิธภัณฑ์ต่างๆในประเทศไทย รวมไปถึงพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และทั่วโลก ในที่สุดนิทรรศการ Songs of Memory จะกลับคืนถิ่นฐานเดิมของตน โดยมาจัดแสดง ณ หอศิลปวัฒนธรรม เมืองเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 12 กุมพาพันธ์ ถึง 30 เมษายน พ.ศ. 2553

หาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลงานของ วิคทอเรีย วอร์ไรเทอร์ ได้ที่ www.tribalmusicasia.com

ข้อมูลภูมิหลังของนิทรรศการ

นานมาแล้วในสมัยที่ดินแดนของประเทศไทย ลาว และพม่า ยังไม่มีเส้นแบ่งพรมแดน บริเวณเชิงเขาหิมาลัยเป็นที่อยู่อาศัยของชนกลุ่มน้อยกว่า 130 ชนเผ่าซึ่งอพยพมาจากไซบีเรีย มองโกเลีย และที่ราบสูงทิเบต ผ่านอาณาเขตของประเทศจีนลงมาทางใต้ จนในที่สุดมาตั้งถิ่นฐานอยู่ในพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ แต่ละชนเผ่าล้วนมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทั้งด้านวิถีชีวิต ความเชื่อ วัฒนธรรม ภาษา เครื่องแต่งกาย รวมไปถึงรูปพรรณสัณฐาน

ผู้คนเหล่านี้เลือกอาศัยอยู่ในที่สูง โดยยังชีพด้วยการล่าสัตว์ และการทำเกษตรกรรมแบบขั้นบันไดตามไหล่เขา แม้ว่าการทำไร่เร่ร่อนแบบนี้ส่งผลพวกเขามีความจำเป็นต้องย้านถิ่นฐานอยู่บ่อยๆ เพื่อหาหน้าดินที่สมบูรณ์สำหรับการเพาะปลูก สังคมเล็กๆของชนเผ่าก็ยังเจริญรุ่งเรืองในแบบของตน และยังสามารถคงเอกลักษณ์และอิสรภาพได้อยู่จนถึงปัจจุบัน ความหลากหลายของกลุ่มคน ความลึกซึ้งของวัฒนธรรมและความเชื่อของพวกเขา ถูกหล่อหลอมรวมกันจนกลายเป็นลักษณะเฉพาะตัวอันน่าหลงไหลของบริเวณสามเหลี่ยมทองคำ

แนวคิดหลัก

PATTERNS

Patterns หรือลวดลาย วิเคราะห์ความหมายของความงามซึ่งแสดงออกผ่านเครื่องแต่งกาย เครื่องประดับ อันถือเป็นศิลปะเฉพาะตัวที่เป็นเอกลักษณ์ของชนเผ่าต่างๆ และยังเชื่อมโยงถึงสถานะทางเศรษฐกิจ สังคมของผู้สวมใส่อีกด้วย

PASSAGES

Passages หรือช่วงชีวิต แสดงให้เห็นถึงการดำรงชีวิตท่ามกลางธรรมชาติ เป็นวงจรหมุนเวียนไปตามการโคจรของดวงอาทิตย์ ฤดูกาล ความเป็นอยู่อันผูกพันกับผืนแผ่นดินยังนำมาซึ่งพิธีกรรมต่างๆ โดยจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของปีหรือในวาระสำคัญของชีวิต คือ การเกิด การบรรลุวุฒิภาวะ การแต่งงาน ความชราภาพ และการตาย

PRAYERS

Prayers หรือบทสวด เจาะลึกถึงความเชื่ออันลี้ลับ จิตวิญญาณ และศาสนาอันเป็นศูนย์กลางของสังคมย่อยๆเหล่านี้ ซึ่งแต่ละกลุ่มจะมีการแสดงออกผ่านทางดนตรี การขับร้อง รวมไปถึงการบูชาและการรักษาโรค ซึ่งล้วนถือเป็นมรดกที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ