19 กุมภาพันธ์ ถึง 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2554
"องค์ประกอบอันสมบูรณ์แบบ คือ หัวใจของการออกแบบงานดอกไม้ ไม่ว่าจะเป็นรูปทรง เส้นสาย สีสัน สัดส่วน พื้นผิว ความสมดุลย์ จังหวะการเคลื่อนไหว การใช้พื้นที่ และการเว้นที่ว่าง แม้กระทั่งความหมายตามบริบทของวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน หรือ ความเคารพ ในความงามที่ธรรมชาติหยิบยื่นให้แก่มนุษยชน ได้มารวมอยู่ในประเด็นอันหลากหลาย ที่ผมได้รวบรวม กลั่นกรอง และถ่ายทอด ผ่านบทความ เพื่อแบ่งปันมุมมองและประสบการณ์ส่วนตัวของผมที่เกี่ยวเนื่องกับการจัดดอกไม้สด ทั้งนี้ เพราะผลงานทุกชิ้น ที่มีความงดงามและเต็มเปี่ยมไปด้วยความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม ล้วนเป็นผลลัพธ์จากการสร้างงานด้วยความซาบซึ้ง และความเข้าใจในรูปทรง รากฐาน โครงสร้าง และวัตถุดิบ อย่างถ่องแท้ แม่แบบที่ผมกำลังจะกล่าวถึง เป็นรากฐานอันสำคัญ ของการออกแบบงานจัดดอกไม้ร่วมสมัย ดั่งเช่นลำแสงสีทั้งเจ็ดกอปรขึ้นมาเป็นสายรุ้งอันงดงามเรืองรอง โดยเริ่มจากความเข้าใจใน แต่ละแม่แบบจนสามารถสร้างสรรค์ผลงานภายในกรอบของแม่แบบนั้นได้อย่างแม่นยำ แล้วจึงพัฒนาต่อไปด้วยการผสมผสาน ตีความ และประยุกต์ใช้ระหว่างแม่แบบ จนออกมาเป็นผลงานศิลป์หลากสีหลายรูปทรงอันตระการตา แล้วคุณจะค้นพบว่า เมื่อคุณเข้าใจ ถึงรากฐานอันเป็นแก่นสารของการออกแบบแล้ว ความเป็นไปได้ของการรังสรรค์งานจัดดอกไม้นั้นไม่มีที่สิ้นสุด และนี่คือ "ความลับทางคณิตศาสตร์" ที่อยูเบื้องหลังการสร้างสรรค์ผลงานของผมทุกชิ้น..."
– สกุล อินทกุล
บทนำ:
กล้าหาญ เฉียบแหลม และตระการตา นับเป็นคำจำกัดความของผลงานออกแบบ การจัดดอกไม้สมัยใหม่ โดย สกุล อินทกุล ซึ่งถูกนำมาจัดแสดงเป็นนิทรรศการใหม่ล่าสุด ณ โรงแรมแทมมาริน วิลเลจ เชียงใหม่ นิทรรศการ “FlorESSENCE หัวใจของงานออกแบบ จัดดอกไม้สมัยใหม่” รวบรวมผลงานออกแบบและจัดดอกไม้ของ สกุล อินทกุล ศิลปินแนวหน้าของประเทศไทย ภายใต้แนวคิด “ศิลปะแห่งการสร้างสรรค์งานจัดดอกไม้” โดยจุดเด่นของงานนิทรรศการนี้ คือ งานประติมากรรมดอกไม้สด ที่ สกุล อินทกุล ลงมือรังสรรค์สำหรับงานนี้โดยเฉพาะ ซึ่งจะจัดแสดงร่วมกับภาพถ่ายบันทึกผลงานชิ้นเอก ที่กลั่นกรองมาจากประสบการณ์การเป็นศิลปินผู้สร้างงานดอกไม้
ผนวกกับความหลงใหล ในความงามของธรรมชาติมานับทศวรรษ พร้อมกันนี้ สกุล อินทกุล ได้เปิดตัวหนังสือ เล่มใหม่ล่าสุด “FlorESSENCE: Essence of Modern Flower Design” เคียงคู่ไปกับนิทรรศการในชื่อเดียวกัน ซึ่งหนังสือเล่มนี้ เป็นเล่มแรกของชุดหนังสือ 2 เล่มที่ สกุล อินทกุล จะเผยหัวใจสำคัญของงานออกแบบจัดดอกไม้สมัยใหม่ จากผลงานหลายเล่ม หลากแง่มุมอันได้รับการตอบรับอย่างท่วมท้น อาทิ “ดอกไม้ไทย วัฒนธรรมดอกไม้แห่งชาติ” ซึ่งเน้นแสดงให้เห็นถึงงานดอกไม้ในบริบทต่าง ๆ ของวัฒนธรรมไทย หรือ “Tropical Colors: The Art of Living with Tropical Flowers” ที่บรรยายถึงความสุนทรีย์ในการใช้ชีวิตอันแวดล้อมด้วยความสวยงามของ ดอกไม้เมืองร้อน “FlorESSENCE” ถือเป็นการฉีกแนวจากผลงานในอดีตอย่างสิ้นเชิง ด้วยการเชื่อมโยงงานออกแบบดอกไม้ กับกฎเกณฑ์ทางคณิตศาสตร์
ซึ่ง สกุล อินทกุล ถือเป็นแม่แบบหลักในการออกแบบงานจัดดอกไม้ หนังสือเล่มนี้จึงนับเป็นหนึ่ง ในบันทึกประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่สุดของวงการการจัดดอกไม้โลก ความลับทางคณิตศาสตร์ที่เป็นรากฐานของการออกแบบดอกไม้ของ สกุล อินทกุล ถูกเผยตัวผ่าน 4 บท 4 แม่แบบ ที่ได้รับแรงบันดาลใจจากรูปทรงเรขาคณิต อันเป็นรูปทรงพื้นฐานของทุกสิ่งในจักรวาล คือ The Vertical หรือ แนวดิ่ง The Horizontal หรือ แนวนอน Cubes & Squares หรือ รูปทรงสี่เหลี่ยมและลูกบาศก์ และท้ายที่สุด Circles & Spheres หรือ วงกลมและทรงกลม ซึ่งเนื้อความและผลงานที่ถูกรวบรวมไว้ในแต่ละบทเต็มไปด้วยสีสัน จินตนาการ และความหมายลึกซึ้ง ที่ถูกร้อยรวมให้เป็นหนึ่งเดียวกันด้วยรูปทรงเรขาคณิตง่าย ๆ ซึ่ง สกุล อินทกุล ถือเป็นการเปิดมิติใหม่ให้กับศิลปะการสร้างสรรค์งานดอกไม้และการชื่นชมความงามทางธรรมชาติจากมุมมองที่ไม่มีใครเหมือน
กลีบดอกไม่ในป่าไผ่ – นำเข้าสู่นิทรรศการอย่างรื่นรมณ์
"กลีบดอกไม้ทุก ๆ กลีบ โอบอุ้มความงามอันเลอค่า ที่ธรรมชาติได้มอบให้เป็นของขวัญแก่มวลมนุษย์" สกุล อินทกุล
ซุ้มไผ่ที่ร่มเย็นที่นำผู้มาเยือนจากถนนราชดำเนินอันคึกคัก เข้ามาสู่ความสงบ ร่มรื่นใน โรงแรมแทมมาริน วิลเลจ ทำหน้าที่ดั่งรั้วธรรมชาติที่กลั่นกรองความวุ่นวายจากโลกภายนอก มิให้เข้ามาสู่ดินแดนแห่งความรื่นรมย์ภายในต้นไผ่อันสง่างาม ช่วยสร้างบรรยากาศที่งดงามอย่างบริสุทธิ์ ด้วยกิ่งก้านใบที่แข็งแรงทนทาน แต่แฝงไปด้วยความอ่อนน้อม อันเป็นคุณลักษณะที่น่าชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง สกุล อินทกุล
ศิลปินนักออกแบบงานจัดดอกไม้ แนวหน้าของประเทศไทย ได้รับแรงดลใจจากซุ้มไผ่แห่งนี้ ที่พา จินตนาการของเขาไปยังป่าไผ่อันงามตระการตา ท่ามกลางความอบอุ่น ของแสงแดดอ่อน ๆ ในยามบ่าย และได้รังสรรคืประติมากรรมชิ้นนี้ ในนามว่า “กลีบดอกไม่ในป่าไผ่” เพื่อนำพาผู้ที่ได้พบเห็นเข้าไปสู่ช่วงเวลาสั้น ๆ ในมโนภาพอันสวยงามอย่างไร้ที่ติ เมื่อสายลมแห่งฤดูร้อน พัดพากลีบดอก หางนกยูงสีเพลิงร้อนแรง พร้อมกลับกลิ่นอันหอมรัญจวนของละอองเกสร ให้ร่ายระบำเริงสายลม และชุบชีวิตให้ป่าไผ่อันสงบนิ่งให้ตื่นขึ้นมาเอนกาย ไปตามจังหวะของเสียงเพลงอันเย้ายวนของสายลมแห่งฤดูร้อน สกุล อินทกุล
บรรยายถึงประติมากรรมชิ้นนี้ว่า “ช่วงเวลาสั้น ๆ อันแสนมีค่า ที่ธรรมชาติมอบให้เราเฉพาะในโอกาสที่พิเศษสุดเช่นนี้ เป็นเสมือนเครื่องเตือนสติให้เรารับรู้ถึงความอจีรังค์ของสรรพสิ่ง และเพราะเหตุนี้ ผมจึงอยากให้ทุกท่านใช้ชีวิตอย่างรื่นรมย์และมีสติสัมปชัญญะ”
ศิลปิน :
สกุล อินทกุล หนึ่งในศิลปินผู้สร้างสรรค์งานออกแบบดอกไม้ชั้นนำของประเทศไทย ผู้ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายในความสามารถที่จะถ่ายทอดปรัชญาแห่งความคิดออกมาเป็นผลงานประติมากรรมดอกไม้สดอันตระการตาได้อย่างเฉียบแหลม ผลงานแต่ละชิ้นของ สกุล ประกอบไปด้วยสีสัน ลายเส้น พื้นผิว ที่โดดเด่น ทำให้เกิดสเน่ห์อันน่าค้นหาในหลายมิติและแง่มุม จนเป็นที่กล่าวขานกันว่า ผลงานทุก ๆ ชิ้นที่เขาได้แสดงฝีมือออกมานั้นล้วนแฝงไปด้วยความกล้าหาญ เร้าใจ และนำสมัยแต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีความเปราะบาง และความเป็นอมตะอยู่ในตัวผลงานของ สกุล อินทกุล ที่ได้สั่งสมมาพร้อมกับประสบการณ์กว่า 2 ทษวรรศ อาทิ การจัดดอกไม้ถวายงานแด่สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชีนีนาถ ฯ หลายครั้งหลายครา งานออกแบบการจัดดอกไม้ทั่วโรงแรม บูลการี โอเทล แอนด์ รีสอร์ท บนเกาะบาหลี รวมไปถึงงานเขียนบทความภายในหัวข้อการจัดดอกไม้ ให้แก่นิตยสารและหนังสือพิมพ์ชั้นนำ
การเดินทางไปสำรวจและสังเกตวัฒนธรรมดอกไม้จากทั่วทุกภูมิภาคในเอเชียเป็นที่มาของแรงบันดาลใจอันไร้ที่สิ้นสุดของ สกุล อินทกุล และเป็นเพราะความหลงใหลในความงามทางธรรมชาติของดอกไม้นั่นเอง ที่นำพาเขาไปเสาะแสวงหาความหมายและบทบาทที่ดอกไม้มีในอารยธรรมต่าง ๆ ซึ่งได้กลับมาเป็นเงาสะท้อน อยู่เบื้องหลังผลงานอันแปลกใหม่ที่เปี่ยมด้วยคุณค่า ในเชิงศิลป์ สกุลเคยเปรยถึงงานจัดดอกไม้ว่า “ชีวิตของเรานั้นอยู่ใกล้ชิดดอกไม้เหลือเกินจนเรามักมองข้ามมันไป ผมสร้างงานด้วยความตั้งใจที่จะส่งเสริมให้ผู้คนหันมาสนใจ ดอกไม้ซึ่งโอบล้อมชีวิตของเราด้วยกลีบอันอ่อนโยนและหอมละมุน” ในทำนองเดียวกับสิ่งที่เคยเอ่ยไว้ ผลงานของ สกุล อินทกุล ช่วยชักจูงให้ผู้คนนับไม่ถ้วน หันมาสนใจและเห็นคุณค่าสิ่งที่คุ้นเคย ดั่งไม่เคยได้เห็นมาก่อน
นิทรรศการ – แรงบันดาลใจและกลิ่นอายท้องถิ่น:
แนวคิดในหนังสือเล่มใหม่ของ สกุล อินทกุล เป็นแรงบันดาลใจหลัก ในการจัดนิทรรศการ ณ โรงแรมแทมมาริน วิลเลจ เชียงใหม่ โดยสถาปัตยกรรมแบบล้านนาประยุกต์ ที่เรียบง่ายของระเบียง ฉาบปูนหมักสีขาวมุงหลังกระเบื้องหลังคาตีนขอ ได้ถูกแปลง เป็นแกลเลอรี่แบบย่อม ๆ เพื่อจัดแสดงภาพถ่ายผลงานการสร้างสรรค์ งานจัดดอกไม้ชิ้นเอก บันทึกโดยช่างภาพ จิระศักดิ์ ทองหยวก แต่ละภาพนอกจากจะแฝงไปด้วยคุณค่า ความงามเชิงศิลป์ ยังสะท้อน ให้เห็นการประยุกต์ใช้ 4 แม่แบบเรขาคณิต จากหนังสือเล่มใหม่อย่าง หลักแหลม เร้าใจ และ ลึกซึ้ง ตามแบบฉบับของ สกุล อินทกุล
จากการจัดแสดงภาพถ่ายบนระเบียงทางเชื่อมเข้าสู่บริเวณ แทมมาริน คอร์ทยาร์ด เขียวชอุ่มที่มีต้นมะขามขามโบราณอายุกว่า 200 ปี ตั้งตระหง่านเป็นจุดศูนย์กลาง ได้กลายเป็นนิทรรศการกลางแจ้ง ที่ประกอบไปด้วย ประติมากรรมดอกไม้สด ซึ่ง สกุล อินทกุล สร้างสรรค์ขึ้นมาสำหรับงานนี้โดยเฉพาะ โดยใช้ 4 แม่แบบ เรขาคณิตจากหนังสือเล่มใหม่เป็นพื้นฐาน ผสมผสานกับแรงบันดาลใจ จากวัฒนธรรมล้านนา เป็นการให้เกียรติรากของวัฒนธรรม จังหวัดเชียงใหม่อันเป็นสถานที่จัดงาน
ประวัติศาสตร์และบทบาทของงานจัดดอกไม้ในวัฒนธรรมล้านนา:
สกุล อินทกุล ได้จับมือกับทีมงานแทมมาริน วิลเลจ จัดนิทรรศการอีกส่วนหนึ่งใน แทมมาริน แกลลอรี่ บนชั้น 2 ของร้านอาหารเรือนแทมมาริน เพื่อเป็นการประมวลประวัติศาสตร์และบทบาทของงานจัดดอกไม้ในดินแดนล้านนา ซึ่งละเอียดอ่อนช้อยมีเอกลักษณ์ที่ชัดเจน และแฝงไปด้วยความหมายและภูมิปัญญาพื้นถิ่น ถือได้ว่าเป็นมรดกทางศิลปวัฒนธรรมที่สำคัญแขนงหนึ่งของภูมิภาคนี้ ที่ควรแก่การสงวนไว้และมีวิวัฒนาการต่อไปให้สอดคล้องกับกาลเวลาและวิถีชีวิต อาทิ ขันดอก และ สวยดอก ซึ่งเป็น ศิลปะการจัดดอกไม้เพื่อการนำไปถวายเป็นพุทธบูชา หรือ การทำบายศรี เพื่อใช้สำหรับพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์
ส่วนหนึ่งของนิทรรศการ แสดงบันทึกภาพวีดีทัศน์ประวัติศาสตร์ ของการเสด็จพระราชดำเนินไปเยือนเชียงใหม่อย่างเป็นทางการ ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ในปี พ.ศ. 2470 แสดงให้เห็นถึงศิลปะการจัดดอกไม้ที่ยิ่งใหญ่ตระตารตาของวัฒนธรรมล้านนา โดยบางส่วนของบันทึกนี้ เป็นวีดีทัศน์ฝีพระหัตถ์ของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ฯ ผู้ทรงชื่นชม และเห็นคุณค่าอันงดงามของวัฒนธรรมล้านนาอันมีเอกลักษณ์
นอกจากนี้แล้ว ส่วนหนึ่งของนิทรรศการยังแสดงถึงบทบาทของดอกไม้ที่มาแต่งแต้วสีสันให้กับประเพณี เทศกาล และ การเฉลิมฉลองของชาวเหนื เช่น ประเพณี ยี่เป็ง หรือ ลอยกระทง ซึ่งเป็นช่วงเทศกาลที่ชาวบ้านจะตกแต่งบ้านเรือนด้วย ประตูป่า (ซุ้มที่เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงการเข้าสู่ป่า ประดับไปด้วยต้นกล้วย ต้นอ้อย บ้างก็มีการประดับประดาด้วยดอกไม้ เช่นดอกดาวเรือง ดอกบานไม่รู้โรย ดอกรัก และเพิ่มแสงสว่างด้วยโคมไฟ) และทำกระทง เพื่อนำไปสักการะแม่คงคา